จะปลูกกัญชาต้องทำอย่างไรบ้าง


ด้านสถานที่

1.สถานที่ ที่ดินต้องเป็นที่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีเอกสารสิทธิที่ดิน และได้รับความยินยอมจากผู้ที่มีกรรมสิทธิในที่ดินนั้น อาจจะเป็นลักษณะของหนังสือยินยอมให้ใช้ที่ดิน หรือมีสัญญาเช่ากับเจ้าของที่ดินก็ได้

2.ให้เจ้าของมีหนังสือว่าให้หน่วยงานรัฐและวิสาหกิจชุมชนนี้เข้ามาใช้ที่ดินปลูกกัญชาได้

3.ส่วนโรงเรือนปลูกกัญชา จะไม่ได้กำหนดสเปค ท่านสามารถขออนุญาตปลูกได้ทั้งรูปแบบในระบบปิด ควบคุมแสง อุณหภูมิ หรือเป็น greenhouse มีโรงเรือนตาข่ายกั้น หรือท่านจะปลูกแบบ outdoor เลยก็ได้ ขึ้นกับโครงการของท่านว่าต้องการผลผลิตในลักษณะใด ความเหมาะสมกับสายพันธุ์ที่ท่านจะปลูก ให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ เป็นไปตามมาตรฐาน และให้ท่านจัดทำมาตรการรักษาความปลอดภัย การป้องกันการเข้าถึงจากบุคคลภายนอก มีรั้วมีกุญแจ ซึ่งมีการกำหนดแนวทางการจัดเตรียมสถานที่ปลูกซึ่งผ่านความเห็นชอบจากกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ

จัดทำแผนการปลูก

ตามกฎหมายในขณะนี้ เปิดให้สามารถยื่นขออนุญาตปลูกกัญชาได้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์  หรือเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น ดังนั้น โครงการจะต้องมีการวางแผนให้ครบทั้งกระบวนการ นั่นคือ ท่านต้องตั้งวัตถุประสงค์ของการปลูกกัญชาก่อนว่า ปลูกเพื่อวัตถุประสงค์อะไร เช่น หากท่านต้องการปลูกกัญชาเพื่อนำไปใช้ทางการแพทย์ ท่านต้องทราบว่าจะผลิตยาอะไร ปริมาณเท่าไร เพื่อคำนวณย้อนกลับมาว่า เราต้องปลูกกัญชากี่ต้น ให้มีความสอดคล้องกัน มีการกำหนดผู้รับซื้อที่ชัดเจน เป็นลักษณะของ contract farming ท่านต้องมีแผนตั้งแต่ต้น และมีเอกสารหลักฐานระหว่างหน่วยงานว่าจะมีการรับผลผลิตนั้น นั่นก็คือ ขึ้นอยู่กับโครงการของท่านมีความสอดคล้องสมเหตุสมผลหรือไม่

คุณสมบัติของผู้ที่จะปลูก

ตามกฎหมายปัจจุบัน เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่รวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ สหกรณ์การเกษตร สามารถขออนุญาตปลูกกัญชาได้ โดยขออนุญาตร่วมกับหน่วยงานของรัฐ ที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัย หรือจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือเกษตรศาสตร์ หรือหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ให้บริการทางการแพทย์

จะปลูกอะไรดีระหว่างกัญชา-กัญชง

พืชกัญชา (Cannabis) กับกัญชง (Hemp) มีถิ่นกำเนิดเดียวกัน อยู่ในวงศ์เดียวกัน คือ  Cannabaceae และสกุลเดียวกันคือ Cannabis แต่ต่างสายพันธุ์ย่อย และกัญชงก็มีต่อมน้ำมันที่เป็นประโยชน์ทางการแพทย์น้อยกว่าพืชกัญชา ตั้งแต่อดีตมีการใช้ต้นกัญชงซึ่งให้เส้นใยคุณภาพในการเป็นวัสดุสิ่งทอ ปัจจุบันมีการนำเมล็ดกัญชงในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องสำอาง กัญชงมีสาร cannabinoid ชนิด CBD สูงแต่มี THC ต่ำมาก

สรุปแล้วใครปลูกได้บ้าง 

ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ระบุว่าผู้ที่สามารถปลูกกัญชาได้ ได้แก่ (1) หน่ายงานของรัฐ (2) สถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่มีการสอน วิจัย ทางการแพทย์หรือเภสัชศาสตร์ (3) ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น สหกรณ์การเกษตร, วิสาหกิจชุมชน, วิสาหกิจสังคม ที่อยู่ภายใต้หน่วยงานของรัฐ หรือสถาบันอุดมศึกษา (4) ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม (เภสัชกรรม ทันตกรรม การแพทย์แผนไทย หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมาย) ทั้งนี้ระยะ 5 ปี แรก การขออนุญาตปลูกเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ โดยผู้ขออนุญาต กลุ่ม 3) 4) และ 5) ต้องดำเนินการร่วมกับผู้ขออนุญาตกลุ่ม 1) หรือ 2) (มาตรา 21)

พร้อมแล้วจะเริ่มขออนุญาตยังไง

  1. ผู้ขออนุญาต* ต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด เช่น สัญชาติไทย มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย
  2. เตรียมสถานที่ปลูกให้เหมาะสม เช่น มีเลขที่ตั้งชัดเจน
  3. ยื่นคำขอพร้อมด้วยเอกสารตามที่กฎหมายกำหนด เช่น แผนการปลูก โดยยื่นคำที่สำนักงาน อย. กระทรวงสาธารณสุข
  4. เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา พิจารณาอนุญาตให้ปลูกกัญชาโดยความเห็นชอบของกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ

*ผู้ขออนุญาต ได้แก่ (1) หน่ายงานของรัฐ (2) สถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่มีการสอน วิจัย ทางการแพทย์หรือเภสัชศาสตร์ (3) ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น สหกรณ์การเกษตร, วิสาหกิจขุมชน, วิสาหกิจสังคม ที่อยู่ภายใต้หน่วยงานของรัฐ หรือสถาบันอุดมศึกษา (4) ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม (เภสัชกรรม ทันตกรรม การแพทย์แผนไทย หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมาย) ทั้งนี้ กลุ่มบุคคลในข้อ 2, 3 และ 4 ต้องดำเนินการร่วมกับหน่วยงานรัฐ (ข้อ 1)


หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถค้นคว้าได้ที่:

คณะกรรมการขับเคลื่อนประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาเพื่อการแพทย์
กระทรวงสาธารณสุข
ถนนติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
E-mail : info@medcannabis.go.th